Tel +66 (0) 2-656-0208
EN
  • TH
Skin Solution

รักษาอย่างไร? แผลเป็นนูน แผลเป็นคีลอยด์ (Keloide)

รักษาอย่างไร? แผลเป็นนูน แผลเป็นคีลอยด์ (Keloide)

เมื่อเกิดรอยถลอกหรือบาดแผลเกิดขึ้น ร่างกายจะมีกระบวนการสร้างผิวใหม่เพื่อทดแทนผิวเก่าที่ถูกทำลายไป ถ้าการสร้างผิวใหม่เป็นไปตามปกติผิวที่เกิดขึ้นใหม่ในบริเวณดังกล่าวก็จะเรียบเนียนเสมอกับผิวบริเวณข้างเคียง แต่ถ้าร่างกายสร้างผิวใหม่ในปริมาณมากเกินไปผิวในตำแหน่งนั้นก็จะเกิดนูนสูงขึ้นกว่าระดับของผิวข้างเคียง เรียกแผลชนิดนี้ว่าแผลเป็นนูน ยังมีแผลเป็นนูนอีกชนิดหนึ่งที่มีขนาดของแผลเป็นนูนหนาและใหญ่มากกว่าขนาดของแผลตอนเริ่มแรก เรียกแผลเป็นชนิดนี้ว่า “คีลอยด์” ตัวอย่างของคีลอยด์ที่เห็นได้บ่อย ๆ เช่น คีลอยด์ที่เกิดตามหลังการเจาะหู หรือการปลูกฝี ซึ่งแผลแรกเริ่มมีขนาดเท่าปลายเข็ม แต่ขนาดของคีลอยด์อาจใหญ่เท่าปลายนิ้ว

อาการคันหรือรู้สึกแป๊บ ๆเป็นอาการผิดปกติหรือเปล่า

แผลเป็นนูนหรือคีลอยด์มักมีอาการคันหรือรู้สึกแป๊บ ๆได้เป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดได้ ซึ่งความรู้สึกที่ว่านี้มักเป็นในระดับน้อยและไม่รุนแรง และหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้ามีอาการคันหรือปวดมาก แพทย์มักให้การรักษาตามอาการเป็นครั้ง ๆ ไป

ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาจะกลายเป็นมะเร็งหรือเปล่า

แผลเป็นนูนหรือคีลอยด์มักเป็นปัญหาด้านความสวยงามมากกว่าปัญหาด้านสุขภาพ ยกเว้นว่าแผลดังกล่าวอยู่ตำแหน่งที่อาจทำให้การเคลื่อนไหวของอวัยวะเกิดการติดขัด เช่น แผลเป็นบริเวณข้อพับ หรือบริเวณนิ้วมือ คำถามยอดฮิตที่ผู้ป่วยสงสัยคือ ถ้าปล่อยไว้และไม่รักษาจะกลายไปเป็นมะเร็งหรือไม่ ขอตอบเลยว่าไม่ต้องกังวล แผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ไม่กลายเป็นมะเร็งไม่ว่าจะปล่อยไว้เป็นเวลานานเท่าไรก็ตาม

เมื่อไหร่ควรรักษา

ดังที่เกริ่นไว้แล้วในตอนต้นว่าแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ไม่เป็นมักเป็นปัญหาด้านสุขภาพแต่เป็นปัญหาด้านความสวยงามมากกว่า เพราะฉะนั้นตำแหน่งของแผลเป็นอาจเป็นสิ่งประกอบในการตัดสินใจรักษา แผลเป็นในตำแหน่งนอกร่มผ้าที่มองเห็นได้ชัด เช่น ใบหน้า มือ มักเป็นปัญหาที่ผู้ป่วยกังวลและขาดความมั่นใจ แผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ที่ยู่ในตำแหน่งที่อาจทำให้การเคลื่อนไหวของอวัยวะเกิดการติดขัดควรพิจารณาการรักษา เช่น แผลเป็นบริเวณข้อพับ หรือบริเวณนิ้วมือ

แผลเป็นรักษาให้หายได้จริงหรือ

ถ้าหากบาดแผลในตอนแรกอยู่ในชั้นหนังกำพร้าหรือชั้นหนังแท้ตอนบน การสมานแผลอาจเกิดเต็มร้อยและไม่เหลือร่องรอยของแผลเดิม เรียกว่า “ไม่มีแผลเป็น” แต่บาดแผลในระยะแรกลึกถึงชั้นหนังแท้ตอนล่าง มักจะเกิดแผลเป็นตามมา แผลเป็นเป็นคือรอยจารึกที่เกิดตามหลังการเกิดบาดแผลบนผิวหนัง หลายท่านยังเข้าใจผิดว่าแพทย์สามารถรักษาแผลเป็นให้หายสนิทและเรียบเนียนเหมือนผิวหนังปกติได้ ที่จริงแล้วแผลเป็นคือรอยแผลที่เป็นถาวรและไม่สามารถรักษาให้กลับเป็นเหมือนผิวปกติได้แน่นอน แต่อาจสามารถทำให้แผลมีขนาดเล็กลงหรือมีสีใกล้เคียงกับผิวหนังปกติได้

นัดปรึกษาปัญหาแผลเป็นคีลอยด์ คลิก!

 

การรักษาโดยวิธีผ่าตัดออกได้ไหม

การผ่าตัดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ออกเป็นวิธีที่ไม่ได้ผลสำหรับแผลเป็นประเภทนี้ เพราะแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์มักจะงอกกลับมาอีกในเกือบทุกราย การรักษาโดยการผ่าตัดออกมักทำในกรณีที่แผลเป็นมีขนาดใหญ่และต้องการแก้ไขให้แผลเป็นนั้นมีขนาดเล็กลงก่อนที่จะรักษาด้วยวิธีอื่น ๆในเวลาต่อมา เช่น การฉีดยา หรือเลเซอร์

วิธีการรักษามีอะไรบ้าง

วิธีการรักษาแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์มีอยู่ 3 วิธีหลักคือ การทายา การฉีดยาเข้าบริเวณแผลเป็น การพันผ้าหรือสวมใส่ชุดที่บีบรัดแผลเป็นไว้ และการรักษาด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น การจี้ด้วยความเย็น การรักษาด้วยเลเซอร์ วิธีทั้งหลายที่กล่าวมานี้ยังไม่มีวิธีไหนที่ได้ผลดี และได้ผลถาวร โดยส่วนใหญ่แผลเป็นนูนหรือคีลอยด์มักจะกลับเป็นซ้ำเมื่อหยุดการรักษา จากผลการศึกษาที่รายงานในวาสารวิชาการแพทย์พบว่า วิธีการโดยการฉีดยาเข้าบริเวณแผลเป็นเป็นวิธีที่ได้ผลเร็วและเห็นผลดีที่สุด แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือ อาการเจ็บระหว่างฉีดยาและต้องฉีดทุกเดือนเป็นเวลาติดต่อกันหลายครั้ง และอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น สีผิวหนังจางลง หลอดเลือดฝอยขยายตัวออก และอาจมีขนขึ้นดกบริเวณที่ได้รับการฉีดยา

เลเซอร์รักษาแผลเป็นนูนได้หรือไม่

เลเซอร์ดาย์ (pulsed dye laser) เป็นวิธีการรักษาแผลเป็นนูนและคีลอยด์ชนิดหนึ่ง เลเซอร์สามารถช่วยให้แผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ราบลงได้ในระดับหนึ่งแต่มักจะไม่ราบสนิท และแผลเป็นมีโอกาสที่จะกลับนูนขึ้นมาอีกเช่นกัน เพราะเชื่อว่าแสงเลเซอร์ชนิดนี้จะไปทำลายหลอดเลือดที่มาเลี้ยงแผลเป็นทำให้แผลเป็นฝ่อลง แต่จากการศึกษาในผู้ป่วยคนไทยที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพบว่าผลการรักษาแผลเป็นนูนด้วยเลเซอร์ดาย์ในคนไทยไม่ดีเท่ากับผลการรักษาในฝรั่งผิวขาว ซึ่งอาจเป็นเพราะแสงเลเซอร์ไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในผิวได้ดีเท่าฝรั่งผิวขาว ในทางปฏิบัติแพทย์มักรักษาแผลเป็นนูนโดยใช้เลเซอร์ควบคู่ไปกับการการฉีดยาเข้าไป

การรักษาด้วยเลเซอร์ทำอย่างไร

การรักษาด้วยเลเซอร์ดายเป็นวิธีการที่ง่ายและไม่เจ็บ ความรู้สึกขณะเลเซอร์จะคล้ายถูกดีดด้วยหนังยาง ไม่มีแผลหรือเลือดออก แต่อาจมีรอยช้ำคล้ายรอยห้อเลือดซึ่งจะจางหายเองได้ภายใน 1 สัปดาห์ การรักษาต้องทำหลายครั้ง โดยเฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง ติดต่อกัน 4-6 เดือน

ข้อคิดทิ้งท้าย

แผลเป็นเมื่อเป็นแล้วจะไม่มีวิธีที่ทำให้กลับเป็นปกติอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการระวังไม่ให้เกิดบาดแผลขึ้น โดยเฉพาะสำหรับท่านที่มีแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์อยู่แล้ว หรือมีประวัติของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นอยู่ แต่ถ้าหากเกิดบาดแผลขึ้นมาแล้วก็สมควรรักษาแผลนั้นเพื่อให้แผลสมานเร็วที่สุดเพื่อลดโอกาสการเกิดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์

 

 

ขอขอบคุณบทความจาก ศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ
หนังสือ สวยด้วยเลเซอร์ สำนักพิมพ์อมรินทร์พริ๊นติ้ง

 

นัดปรึกษาปัญหาแผลเป็นคีลอยด์ คลิก!