บทความ Knowledges
อายุเริ่มมา หนังตาก็เริ่มตก แก้ไขอย่างไรดี?
อายุที่มากขึ้นกับปัญหาเปลือกตาและบริเวณใกล้เคียง
เคยสังเกตหรือไม่ว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ริ้วรอยและความหย่อนคล้อยเริ่มมาเยือน หนังตาที่เคยเต่งตึงก็มักตกย้อย จากเดิมที่เคยตากลมโตก็จะดูตาเล็กลงไม่สวยงาม หรือรู้สึกว่าเปลือกตาดูเหมือนปรือ ๆ ง่วง ๆ กว่าที่เคยเป็น
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
กายวิภาคของเปลือกตาและใบหน้า มีการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ส่วนของผิวหนังที่บางลง ทำให้หย่อนคล้อยมีริ้วรอยเพิ่มขึ้น รวมถึงเนื้อเยื่อส่วนที่ลึกลงไป ไม่ว่าจะเป็นชั้นไขมัน กล้ามเนื้อหรือ เอ็นที่หย่อนคล้อยลงมามาก ขึ้นตามแรงโน้มถ่วง สำหรับบริเวณรอบๆดวงตา สิ่งที่พบบ่อยก็คือเรื่องของเปลือกตาบน และคิ้วที่หย่อน หรือตก รวมถึงถุงใต้ตาที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น มาทำความรู้จักกับปัญหาของเปลือกตาที่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นกันดีกว่า
สำหรับเปลือกตาบน ปัญหาที่พบบ่อย แบ่งเป็น 3 ภาวะหลักคือ
- เปลือกตาหรือหนังตาหย่อน (dermatochalasis)
- เปลือกตาตก (blepharoptosis/ eyelid ptosis)
- คิ้วตก (brow ptosis)
ภาวะเปลือกตาหย่อน หรือ หนังตาหย่อน (dermatochalasis)
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ พบบ่อยคือ เกิดในผู้สูงอายุ เนื่องจากหนังตามีความยืดหยุ่นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้หนังตาสามารถหย่อนคล้อยลงมาได้ ส่วนบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือชาติพันธุ์ เช่น ในคนเอเชียที่มีตาชั้นเดียว และมีการสะสมของไขมันใต้ชั้นหนังตามาก ทำให้ชั้นหนังตาห้อยลงมาต่ำกว่าระดับขนตา และโดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจพบภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis) และคิ้วตก (brow ptosis) ร่วมด้วยได้ ซึ่งต้องแยกสาเหตุเพราะวิธีการรักษานั้นแตกต่างกัน
แก้ไขภาวะหนังตาหย่อนอย่างไร
ภาวะเปลือกตาหย่อนสามารถแก้ไขโดยการผ่าตัดเปลือกตา โดยเลือกตัดบริเวณหนังตาที่ห้อยย้อยลงมาออก (upper blepharoplasty) รอยแผลผ่าตัดจะซ่อนอยู่ตรงบริเวณชั้นตา (ถ้ามีชั้นตา) ระหว่างการผ่าตัดอาจจะมีการนำไขมันส่วนเกินที่ทำให้เปลือกตาอูมออกได้ด้วย ก่อนที่จะเย็บปิดแผลตรงชั้นตาให้สวยงามและมีความเป็นธรรมชาติ อาจทำร่วมกับการผ่าตัดตาทำตาสองชั้นได้ ในกรณีที่ต้องการแก้ไขเรื่องชั้นตาด้วย โดยเย็บยึดชั้นผิวหนังกับขอบของกล้ามเนื้อยกเปลือกตาเพื่อทำให้เกิดรอยพับขึ้นเวลาลืมตา
รูปแสดงการทำผ่าตัด upper blepharoplasty แก้ไขหนังตาหย่อน
ภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis / eyelid ptosis)
เปลือกตาตก (ptosis) คือภาวะที่เปลือกตาบนนั้นคล้อยลงมาอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ควรจะเป็น โดยในภาวะปรกติ ขอบเปลือกตาบนจะอยู่บริเวณใกล้ขอบของตาดำด้านบน ถ้าเปลือกตาตกลงมามาก จนกระทั่งใกล้กับหรือคลุมรูม่านตา นอกจากจะทำให้ตาดูปรือแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อการมองเห็นและลานสายตาได้ ทำให้เกิดอาการเมื่อยเปลือกตาหรือหน้าผากเพราะต้องคอยยกขึ้นเพื่อที่จะมองเห็น ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในอายุที่มากขึ้นนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการลืมตานั้นมีอาการอ่อนแรงหรือหลุดจากบริเวณที่เคยเกาะ ทำให้เกิดภาวะเปลือกตาตกได้ จนจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อยกเปลือกตาในที่สุด
อาการของภาวะเปลือกตาตก
เมื่อเปลือกตาตกลงมาบังตาดำอาจทำให้เกิดอาการได้ดังนี้
ถ้าเป็นข้างเดียวจะทำให้ดูตาและคิ้วดูไม่เท่ากัน ไม่สวยงาม เพราะโดยปรกติคนเราจะพยายามยกคิ้วข้างที่เปลือกตาตกขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้น
รูปของภาวะเปลือกตาตกด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา ให้สังเกตดูเปลือกตาซ้ายนั้นตกลงมาบังจุดที่แสงแฟลชตกกระทบที่กระจกตาดำ ทำให้บังการมองเห็นของตาซ้าย รวมถึงเปลือกตาซ้ายที่ดูโหลลึก และตำแหน่งคิ้วข้างซ้ายจะยกสูงกว่าคิ้วขวาเนื่องจากเปลือกตาซ้ายที่ตกมากกว่า รวมถึงรอยย่นที่หน้าผากซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหน้าผากที่ทำงานหนักเพื่อพยายามยกเปลือกตาขึ้น
ถ้าเป็นสองข้างจะทำให้ดูตาปรือเหมือนง่วงนอนตลอดเวลา มีชั้นตาที่ดูสูงขึ้น และเบ้าตาลึกได้ และคิ้วจะดูสูงขึ้น เพราะใช้กล้ามเนื้อหน้าผากช่วยยกเช่นเดียวกัน ทำให้อาจมีอาการเมื่อยหน้าผากหรือคิ้ว และมีรอยย่นที่หน้าผากได้ถ้าเป็นนานๆ นอกจากนี้อาจรู้สึกว่าลานสายตาด้านบนนั้นแคบลง ทำให้มองเห็นไม่กว้างเหมือนเคย บางคนอาจมีอาการเงยหน้าขึ้นตลอดเวลาเพื่อมองให้ชัดขึ้น ทำให้เมื่อยหรือปวดหลังคอได้