Skin Problem

สิวจากการใส่ Mask หน้ากากอนามัย

สิวจากการใส่ Mask หน้ากากอนามัย

สิวจากการใส่ Mask หน้ากากอนามัย

สิวจากการใส่ Mask หน้ากากอนามัย

ปัจจุบันในช่วงภาวะการระบาดของ Covid-19 ทำให้เราต้องใส่ Mask หรือหน้ากากอนามัยกันมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ “สิว” ทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตัน

สาเหตุของสิวที่เกิดจากการใส่ Mask คือ

การขัดถูระหว่างใบหน้าของเราและ Mask ทำให้รบกวนกระบวนการผัดเซลล์ผิว ทำให้ การผัดเซลล์ผิวผิดปกติและเกิดเป็นสิวได้

รวมถึงการกดของ Mask บนใบหน้าในบางจุด ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน และต่อมไขมัน (Pilosebaceous gland) โดยเฉพาะในผู้หญิงที่แต่งหน้า ทาครีมและเครื่องสำอาง ระหว่างวันก็จะมีทั้งเหงื่อออกและน้ำมันที่ผลิตออกจากใบหน้า ผสมกับเครื่องสำอาง และติดอยู่บน Mask ที่ปิดใบหน้าอยู่ เปรียบเสมือนเป็นดินน้ำมันที่อุดรูขุมขนและต่อมไขมัน (Follicular plug) ทำให้เกิดสิวอุดตันและกลายเป็นสิวอักเสบต่อไปได้

 

วิธีดูแลรักษา สิว จากการใส่ Mask

1. ปรับการใช้เครื่องสำอาง และการแต่งหน้า โดยเลือกใช้เครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน (Oil free) และไม่ก่อให้เกิดสิว (Non-Comedogenic) หากเป็นไปได้ แนะนำให้งดแต่งหน้าบริเวณที่ใส่ Mask หรือแต่งลดลง เปลี่ยนจากการใช้รองพื้น หรือแป้งผสมรองพื้น เป็นการทาแค่แป้งธรรมดา หรือ Loose powder แทนค่ะ

2. รีบล้างหน้าให้สะอาด เมื่อกลับถึงบ้านแนะนำให้รีบล้างหน้า และอาบน้ำ (ช่วยลดโอกาสกระจายเชื้อ Coronavirus ในบ้าน) เพื่อลดระยะเวลาที่หน้าของเราสัมผัสกับเครื่องสำอาง ช่วยลดโอกาสการอุดตันได้บ้าง และต้องล้างให้สะอาด โดยหมอแนะนำให้ล้าง 2 ขั้นตอน คือ 1) ล้างเครื่องสำอางด้วย Make up remover ก่อนเสมอ แม้คุณจะไม่แต่งหน้า แต่ถ้าทาครีม เช่น ครีมกันแดด ต้องใช้ล้าง เครื่องสำอางด้วย 2) ล้างสบู่ เผื่อลดความมันและสิ่งสกปรก โดยต้องไม่ลืมว่าต้องล้างอย่างนุ่มนวล หากเป็นสิวแล้วล้างหน้ารุนแรง ขัดถูเยอะ จะกระตุ้นให้เกิดสิวได้เช่นกัน

3. ผลิตภัณฑ์ช่วยผลัดเซลล์ผิว การทากรดอ่อนๆ เช่น AHA BHA สามารถช่วยให้การผัดเซลล์ผิวเป็นปกติลดการอุดตันของรูขุมขนได้ แต่ต้องใช้อย่างพอเหมาะ ความเข้มข้นไม่สูงเกินไปและถูกวิธี กรด AHA BHA ที่ความเข้มข้นสูง อาจมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ในแง่การผลิดเซลล์ผิว ลดริ้วรอย และจุดด่างดำจากสิว แต่ต้องอยู่ใต้การดูแลของแพทย์ เพราะอาจทำให้หน้าไหม้ลอกได้ค่ะ และไม่แนะนำให้ทำเอง เช่น การใช้น้ำมะนาวมาทา เนื่องจากเราไม่ทราบความเข้มข้นของกรดและอาจทำให้เกิดผื่นแพ้ ผิวไหม้ ระคายเคืองได้เช่นกัน

4. ยารักษาสิว

สำหรับคนที่อาการมาก ทั้งอุดตันและอักเสบเป็นหนอง การดูแลผิวแบบที่แนะนำมาอาจเอาไม่อยู่ ต้องใช้ยารักษาสิวร่วมด้วย โดยยาที่ใช้รักษาสิวมีทั้งยากินและยาทาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้ยาที่เหมาะสมค่ะ

และการรักษาที่ควบคู่กับการทายายังมีอีกหลายอย่าง เช่น การฉีดสิว เลเซอร์ Pulsed dye laser (V-Beam) การรักษาด้วยแสง แบบ Photodynamic therapy เป็นต้น

 

บทความ พ.ญ. สรวลัย รักชาติ